ซีพีเอฟ รับใบประกาศนียบัตรยกย่องจากกระทรวงแรงงาน ในฐานะองค์กรต้นแบบของไทยในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่าวด้าว
นายสุเมธ วงศ์บุณย์ยงรองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนของไทยที่ได้รับคัดเลือกจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเข้ารับใบประกาศนีเกียรติบัตรจากพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะบริษัทไทยที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว

“ซีพีเอฟตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดูแลบุคลากรทุกระดับ ทั้งคนไทยและต่างด้าวด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม โดยได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแรงงาน ทั้งนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน นโยบายการจ้างงานและการบริหารแรงงาน นโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าว นโยบายการบริหารความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง นโยบายเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด สอดคล้องตามแนวทางปฏิญญาสากล ว่าด้วย สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธกล่าวต่อว่า ด้านการจ้างแรงงานต่างด้าว บริษัทได้กำหนดเป็นนโยบายของบริษัทที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นลูกจ้างโดยตรงของบริษัทเท่านั้น และลูกจ้างต่างด้าวยังได้รับค่าตอบแทนและ สวัสดิการ รวมถึงโอกาสการเลื่อนตำแหน่งงานเท่าเทียมกับแรงงานไทยอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค นอกจากนี้ บริษัทยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกจ้างต่างด้าวเกี่ยวกับการจ้างงานที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางและประเทศไทยให้กับลูกจ้างต่างด้าว อาทิ ค่าธรรมเนียมวีซ่า/ค่าเปลี่ยนประเภทวีซ่า ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าต่อวีซ่า ค่าตรวจร่างกาย (ในประเทศไทย) และค่าเดินทางจากชายแดนถึงสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น
“ปัจจุบันซีพีเอฟมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาจำนวน 4,100 คน และอีก 900 คนเป็นชาวเมียนมาร์ ซึ่งกระจายไปตามโรงงานต่างๆ ของบริษัท ทั้งโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ โรงงานแปรรูปสุกร และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ทั้งนี้ การว่าจ้างแรงงานต่างด้าวโดยตรงช่วยให้บริษัทสามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับเรื่องป้องกันการค้ามนุษย์ได้ 100% สามารถดูแลและยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวทุกคนได้อย่างเต็มที่เทียบเท่ากับพนักงานคนไทย ทั้งด้านสวัสดิการ การปรับอัตราค่าจ้างประจำปี และโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตลอดจนช่วยให้การดูแลด้านคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวของบริษัทมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม” นายสุเมธกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001 และข้อกำหนดของคู่ค้า ที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชน สภาพการทำงาน การว่าจ้าง การไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเน้นสร้างการยอมรับในเรื่องความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา สีผิวให้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งองค์กร รวมทั้งบริษัทยังได้ส่งเสริมคู่ค้าของบริษัทได้เห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในการจัดการด้านแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานแรงงานสากลสอดคล้องกับนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของ ซีพีเอฟ
นายสุเมธยังกล่าวอีกว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้เป็นคนเก่งคนดี โดยตระหนักว่าบุคลากรของซีพีเอฟเป็นสมาชิกของสังคมที่ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตยั่งยืน แต่ยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก ก่อนจะมองถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย
เครดิต มติชน
http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1441171295