ย้อนตำนานหลังม่านไม้ไผ่…เมื่อคนไทยปฏิวัติโต๊ะอาหารจีน
“จีน” กำลังมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ ของจีนก็ขยายธุรกิจออกไปยังทั่วโลกมากขึ้นด้วย ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นสมัยที่สอง แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของจีนจะยังเป็นที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยอัตราเร่งของจีนที่หมุนอย่างรวดเร็ว คาดว่าอีกไม่นานก็น่าจะแซงสหรัฐอเมริกาได้ไม่ยาก
สำหรับประเทศจีนแล้ว ความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 19 เท่า และมีประชากรราว1,400 ล้านคน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2560) และคาดว่าจะถึง 1,450 ล้านคนในปี 2563 แต่สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยในการทำเกษตรกรรมมากเท่าใดนัก โดยตอนเหนือจะเป็นเทือกเขาและทะเลทราย ตอนใต้เป็นป่าฝนกึ่งโซนร้อน ภาคตะวันตกเป็นเทือกเขา และภาคตะวันออกติดทะเล แน่นอนว่าความต้องการอาหารก็ย่อมมากตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย ในปี 2013 ระหว่างการประชุมหารือด้านนโยบายอาหารกับเจ้าหน้าที่รัฐในชนบท ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า
“ชามข้าวของเราควรมีอาหารจีนเป็นหลัก”
จากคำกล่าวนี้ ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการหาเลี้ยงประชากรของจีน ที่สะท้อนความไม่สอดคล้องระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ทางการเกษตรในจีน เพราะปัญหาการทำกินในพื้นที่ๆไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกทั้งที่มีที่ดินมหาศาล แต่ผลผลิตกลับไม่เพียงพอต่อประชาชน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ บริษัทสัญชาติไทยได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอาหารของจีนจวบจนทุกวันนี้


ซึ่ง ณ เวลานั้นธนินท์ เจียรวนนท์ หรือเจ้าสัวซี.พี.ได้เสนอคำแนวทางในการแก้ปัญหา โดยแนะนำวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ให้กับรัฐบาลจีน และด้วยการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เครือซีพีได้รับการพิจารณาให้เข้าบริหารโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่จังหวัดผิงกู่ ใกล้นครปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ไข่ 3 ล้านตัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและในเอเชีย ยุโรป ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่มีประมาณ 6-7 ล้านตัวต่อฟาร์ม โดยใช้โมเดล “สี่ประสาน” ซึ่งเป็นการผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล เกษตรกร บริษัทเอกชน และธนาคาร ซึ่ง ณ ปัจจุบันโครงการนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ อีกทั้งเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน
นอกจากนี้ในปัจจุบันประเทศไทยและจีนยังมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” ร่วมกัน ณ โครงการ CP Eco Agriculture Industry Park เมืองสือซี จังหวัดหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ซึ่งอนาคตจะเป็นการเชื่อมโยงศูนย์วิจัยวิจัยเจ้อเจียงเข้ากับ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ของไทยเรา ซึ่งทั้งไทยและจีนจะร่วมกันคิดค้นผนึกกำลังพัฒนาการผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปใหม่ ๆ มาหล่อเลี้ยงผู้คนบนโลกนี้มากยิ่งขึ้น
นี่จึงเป็นโอกาสในการคว้าตลาดขนาดใหญ่ซึ่งภาคธุรกิจของหลายประเทศต่างจับจ้องจะเข้าไปทำการค้าการลงทุนและผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน แต่ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ก็สามารถก้าวเข้าไปลงทุนวางรากฐานธุรกิจในจีนโดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลและประชาชนชาวจีน
ภาพการเติบโตของธุรกิจต้นน้ำของ ซี.พี.ในประเทศจีน เป็นจุดที่สะท้อนกลับมาถึง “ความพร้อม” ของคนไทยที่กำลังขยับตัวสู่เป้าหมาย “ครัวของโลก”มากขึ้นทุกที